พุทธธรรมบ่มวิมุตติ

พุทธธรรมบ่มวิมุตติ ประเทศเยอรมันนี

จากดำริของหลวงพ่ออำนาจ โอภาโส ที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีความมุ่งมั่น ทำให้ “โครงการชมรมผู้หญิงไม่กลับมาเกิด” ได้ผลลัพธ์จากการปฏิบัติที่ดีมาก เพราะอุบาสิกาที่เข้าร่วมโครงการล้วนเห็นหนทางการพ้นทุกข์ได้ชัดเจนมากขึ้น จึงมอบโอกาสให้แก่อุบาสิกา ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้ามาศึกษาและพร้อมที่จะประกอบความเพียรต่อเนื่อง ได้มีโอกาสเป็นนักบวช เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสืบต่อพระศาสนาต่อไป โดยการจัดหาสถานที่วิเวกสำหรับปฏิบัติภาวนาได้อย่างต่อเนื่อง จึงพบอาคาร ซึ่งเดิมเป็นโรงแรม มี ๙ ห้องพักและมีบริเวณที่เหมาะแก่การภาวนา ณ เมือง Bad Zwesten ประเทศเยอรมันนี

ด้วยเหตุปัจจัยและเป้าหมายดังกล่าวนั้น พุทธธรรมบ่มวิมุตติ จึงได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ และได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้องตามกฏหมายของประเทศเยอรมันนี ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ในนาม “มูลนิธิพุทธธรรมบ่มวิมุตติ”

สถานธรรมแห่งนี้ ชื่อว่า “พุทธธรรมบ่มวิมุตติ” แสดงถึงความเป็นสถานที่สำหรับสมณเพศ เพื่อปฏิบัติภาวนา
แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาธรรมะเบื้องปลาย
ที่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

–วิธีการบ่มวิมุตติให้ถึงที่สุด–

เมฆิยะ ! ธรรมทั้งหลาย ๕ ประการ เป็นไปเพื่อความสุกรอบ (ปริปาก) ของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ. ห้าประการอย่างไรเล่า? ห้าประการคือ :-

เมฆิยะ ! ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อหนึ่ง เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก, คือภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วด้วยการสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่สอง เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก, คือ ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมกถาอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การเปิดโล่งแห่งจิต คืออัปปิจฉกถา (ให้ปรารถนาน้อย) สันตุฏฐิกถา (ให้สันโดษ) ปวิเวกกถา (ให้สงัด) อสังสัคคกถา (ให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่) วิริยารัมภกถา (ให้ปรารภเพียร) สีลกถา (ให้มีศีล) สมาธิกถา (ให้มีสมาธิ) ปัญญากถา (ให้มีปัญญา) วิมุตติกถา (ให้เกิดวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา (ให้เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ) : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่สาม เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก คือภิกษุเป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่สี่ เป็นไปเพื่อความสุกรอบของเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! ข้ออื่นยังมีอีก คือภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องถึงธรรมสัจจะแห่งการตั้งขึ้นและการตั้งอยู่ไม่ได้ อันเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ : เมฆิยะ ! นี้เป็นธรรมข้อที่ห้า เป็นไปเพื่อความสุกรอบแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่สุกรอบ.

เมฆิยะ ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี, ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เธอพึงหวังได้ คือจักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ, จักได้โดยง่ายซึ่งธรรมกถา ฯลฯ, จักเป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ, จักเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ.

เมฆิยะ ! ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรมสี่ประการให้ยิ่งขึ้นคือ :-
เจริญ อสุภะ เพื่อ ละราคะ.
เจริญ เมตตา เพื่อ ละพยาบาท.
เจริญ อานาปานสติ เพื่อ ตัดเสียซึ่งวิตก.
เจริญ อนิจจสัญญา เพื่อ ถอนอัส๎มิมานะ; กล่าวคือ เมื่อเจริญอนิจจสัญญา อนัตตาสัญญาย่อมมั่นคง. ผู้มีอนัตตสัญญา ย่อมถึงซึ่งการถอนอัส๎มิมานะ คือ นิพพานในทิฏฐธรรม นั่นเทียว.

Social media & sharing icons powered by UltimatelySocial